สร้าง High-Trust Culture ด้วยหัวใจขององค์กรยุคใหม่ที่ยั่งยืน

ในโลกที่เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และวิถีชีวิตของคนทำงาน ความสามารถในการปรับตัว คือ “กุญแจสู่ความอยู่รอด”  องค์กรที่ประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างมั่นคง ล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “วัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ” ความไว้วางใจ (Trust) คือรากฐานหลักของทุกๆ องกรณ์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะวัฒนธรรมนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในทีมหรือหัวหน้างานและลูกน้องเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรม ในการดึงดูดคนเก่งๆ (Talent) ให้อยู่กับองค์กร และยังเป็นการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว

แม้ว่าคำว่า "ไว้วางใจ" จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่แท้จริงแล้ว วัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจมีพลังขับเคลื่อนในระดับองค์กร ธุรกิจ และแม้กระทั่งประเทศชาติ


ความหมายของวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ

วัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ คือ บรรยากาศในการทำงานที่พนักงานรู้สึกว่าเสียงของพวกเขามีความหมาย ได้รับความเคารพจากเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร และเชื่อมั่นว่าองค์กรจะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความยุติธรรม ความไว้วางใจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคำพูด แต่เกิดจากการกระทำอย่างสม่ำเสมอของผู้นำและตัวองค์กร

เมื่อความไว้วางใจเกิดขึ้น พนักงานกล้าแสดงความเห็น พร้อมเรียนรู้จากความผิดพลาด และกล้าเสนอแนวคิดใหม่ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือเพิกเฉย

ลองนึกภาพทีมของคุณที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่กล้าพูดความจริง ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ หรือไม่กล้าเสนอไอเดีย เพราะกลัวจะถูกวิจารณ์หรือโดนตำหนิ คุณคิดว่าทีมนั้นจะสามารถสร้างนวัตกรรมและทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ? แน่นอนว่าเป็นไปได้ยาก เพราะความไว้วางใจคือรากฐานของความร่วมมือ

ในทางกลับกัน ทีมที่มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน กล้าทำผิดพลาด และกล้าพูดในสิ่งที่ยากจะพูด กลับมีแนวโน้มที่จะสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมกว่า เพราะสมาชิกในทีมรู้ว่า พวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (Psychological Safety) ซึ่งคือ จุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างแท้จริง

Stephen M.R. Covey ผู้เขียน The Speed of Trust กล่าวไว้ว่า “เมื่อความไว้วางใจเพิ่มขึ้น ต้นทุนจะลดลง และความเร็วจะเพิ่มขึ้น” แนวคิดนี้สะท้อนถึงความจริงขององค์กรยุคใหม่ที่การตัดสินใจต้องรวดเร็ว และการทำงานต้องอิงกับความคล่องตัว

องค์กรที่พนักงานต้องคอยตรวจสอบกันเองตลอดเวลา ต้องมีเอกสารรับรองมากมาย หรือพูดทุกอย่างอย่างระมัดระวัง จะไม่มีวันเคลื่อนที่เร็วพอในโลกธุรกิจที่แข่งกับเวลา แต่เมื่อมีความไว้วางใจ ทุกคนสามารถโฟกัสที่ "การทำงาน" ไม่ใช่ "การระวังตัว"

ทำไมองค์กรควรให้ความสำคัญกับ "ความไว้วางใจ"

1. เสริมสร้างความผูกพันและความภักดีให้กับพนักงานในองค์กร

พนักงานที่รู้สึกว่าองค์กรเชื่อมั่นในตัวเขา มีแนวโน้มที่จะมีความผูกพันต่อองค์กรสูงขึ้น กล้าทุ่มเทและมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จด้วยความเต็มใจ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยลดอัตราการลาออก (Turnover Rate) และลดต้นทุนในการสรรหาบุคลากรใหม่

2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของพนักงาน

ในองค์กรที่มีความไว้วางใจ พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา แลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมมือกันพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดวัฒนธรรมของ “ความกลัว” ซึ่งมักเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง

3. กระตุ้นนวัตกรรมที่ดีในองค์กรให้กับพนักงาน

นวัตกรรมไม่สามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจ เพราะการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ย่อมมาพร้อมกับความไม่แน่นอน และความล้มเหลว การที่องค์กรสนับสนุนให้พนักงานกล้าเสนอความคิดใหม่ ๆ โดยไม่ตัดสินเร็วเกินไป คือจุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างสร้างสรรค์

4. ช่วยให้การสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง การสื่อสารในทุกระดับก็จะราบรื่นมากขึ้น ลดความเข้าใจผิด ลดความตึงเครียด และช่วยให้สามารถตัดสินใจร่วมกันได้เร็วขึ้น

วิธีสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจในองค์กร

1. เริ่มจากผู้นำ

ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างของความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการเคารพผู้อื่นอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะในเรื่องเล็กหรือใหญ่ ความต่อเนื่องในการกระทำของผู้นำจะส่งสัญญาณให้พนักงานรู้ว่า “องค์กรนี้เชื่อในคน”

2. เปิดพื้นที่สำหรับการสื่อสารแบบสองทาง

องค์กรที่ไว้วางใจพนักงาน จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา และให้โอกาสในการเสนอแนวทางแก้ปัญหา เสียงของพนักงานไม่ควรถูกเพิกเฉยหรือมองข้าม เพราะนี่คือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

3. ให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

พนักงานทุกคนควรรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าตำแหน่งจะสูงหรือต่ำเพียงใด ระบบที่ยุติธรรม เช่น การประเมินผลที่ชัดเจนและโปร่งใส การตอบแทนที่เป็นธรรม และการจัดการความขัดแย้งอย่างเป็นกลาง จะช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

4. ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

องค์กรที่ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและเป้าหมาย ไม่เพียงแต่เพิ่มความผูกพัน แต่ยังช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร

ตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างความไว้วางใจ

มีหลายองค์กรที่พิสูจน์แล้วว่าความไว้วางใจสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้จริง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี ธุรกิจบริการ หรืออุตสาหกรรมการผลิต พวกเขาล้วนให้ความสำคัญกับพนักงานมากกว่าตัวเลข โดยมองว่าคนคือสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด

บางองค์กรใช้โครงสร้างแบบเรียบ ลดลำดับชั้นการบริหาร เพื่อส่งเสริมการสื่อสารที่ตรงและมีประสิทธิภาพ บางแห่งเน้นวัฒนธรรมแบบครอบครัว หรือสร้างพื้นที่ให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสร้างความไว้วางใจในแบบของตนเอง


ในยุคแห่งการทำงานแบบไฮบริด ความไว้วางใจยิ่งสำคัญ

หลังยุคโควิด-19 การทำงานแบบ Hybrid หรือ Remote กลายเป็นเรื่องปกติ การควบคุมแบบเดิมไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป นายจ้างไม่สามารถดูว่าใคร "อยู่โต๊ะทำงาน" แต่ต้องเชื่อใจว่าเขาจะ "ส่งมอบงาน" ได้

องค์กรที่ยังติดกับการวัดผลจากเวลา แทนที่จะวัดจากผลลัพธ์ จะมีปัญหาในการรักษาคนเก่งไว้ได้ เพราะพนักงานยุคใหม่ให้ความสำคัญกับอิสรภาพ และต้องการรู้สึกว่า "องค์กรเชื่อใจในศักยภาพของพวกเขา"


วัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจไม่ใช่แค่ “สิ่งที่ดีต่อใจ” แต่เป็นปัจจัยเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรยุคใหม่ไม่อาจมองข้ามได้ สำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) วัฒนธรรมนี้คือจุดเริ่มต้นของทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหา การพัฒนา หรือการดูแลพนักงาน หากองค์กรสามารถปลูกฝังความไว้วางใจได้อย่างแท้จริง สิ่งที่ตามมาคือพลังของคนที่พร้อมจะผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

Previous
Previous

HR ยุคใหม่ เริ่มใช้ AI ในการบริหารทรัพยากรบุคคล

Next
Next

9 สัญญาณ Toxic Job